เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [3. ติกนิบาต] 4. อัพภันตรวรรค 10. สีลวีมังสกชาดก (290)
10. สีลวีมังสกชาดก (290)
ว่าด้วยการพิจารณาอานิสงส์ของศีล
(พราหมณ์ได้กราบทูลพระราชาถึงการกระทำของตนเพราะต้องการจะทดลอง
ศีลว่า)
[118] ได้ยินว่า ศีลเป็นสิ่งที่ดีงาม
ศีลเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมในโลก
ดูเถิด นาคที่พิษร้ายแรงยังไม่เบียดเบียนใคร ๆ
เพราะสำนึกอยู่ว่าตนมีศีล
[119] เราจักสมาทานศีลที่บัณฑิตรับรองว่า
เป็นสิ่งที่ปลอดภัยในโลก
ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้มีศีลได้รับการขนานนามว่า
เป็นผู้ประพฤติข้อปฏิบัติของพระอริยะ
[120] ผู้มีศีลเป็นที่รักของหมู่ญาติ
และรุ่งเรืองในหมู่มิตร
หลังจากตายแล้วจะไปสู่สุคติ
สีลวีมังสกชาดกที่ 10 จบ
อัพภันตรวรรคที่ 4 จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

1. อัพภันตรชาดก 2. เสยยชาดก
3. วัฑฒกีสูกรชาดก 4. สิริชาดก
5. มณิสูกรชาดก 6. สาลูกชาดก
7. ลาภครหชาดก 8. มัจฉุททานชาดก
9. นานาฉันทชาดก 10. สีลวีมังสกชาดก


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :147 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [3. ติกนิบาต] 5. กุมภวรรค 4. ชัมพุขาทกชาดก (294)
5. กุมภวรรค
หมวดว่าด้วยหม้อสมบัติ
1. ภัทรฆฏเภทกชาดก (291)
ว่าด้วยคนเขลาย่อมเดือดร้อนเพราะทำลายหม้อสมบัติ
(พระศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาประมวลชาดก ตรัสพระคาถาว่า)
[121] นักเลงได้หม้อที่สามารถจะบันดาลสิ่งที่ปรารถนาได้ทุกอย่าง
เขาย่อมประสบความสุขตลอดเวลาที่ยังรักษาหม้อนั้นไว้ได้
[122] เมื่อใด เขาเมาสุรา คะนอง
ทำลายหม้อเสียเพราะความเมา
เมื่อนั้น เขาจะเป็นคนเปลือยนุ่งห่มผ้าเก่า
กลายเป็นคนโง่เง่าเดือดร้อนในภายหลัง
[123] ผู้ใดโง่เขลา ประมาท ได้ทรัพย์แล้วใช้สอยไปทำนองนี้
ผู้นั้นย่อมเดือดร้อนในภายหลัง
เหมือนนักเลงทำลายหม้อขุมทรัพย์
ภัทรฆฏเภทกชาดกที่ 1 จบ

2. สุปัตตชาดก (292)
ว่าด้วยเมียพญากาสุปัตตะแพ้ท้อง
(กากราบทูลพระราชาถึงเหตุที่ตนกระทำความชั่วว่า)
[124] ข้าแต่มหาราช พญากาชื่อสุปัตตะ
มีบริวาร 80,000 ตัวแวดล้อม อาศัยอยู่ที่กรุงพาราณสี
[125] เมียพญากานั้นชื่อนางสุปัสสาแพ้ท้อง
ต้องการจะกินพระกระยาหารของพระราชาอันมีค่ามาก
ที่พวกพ่อครัวปรุงแล้วในห้องเครื่อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :148 }